วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การใช้งานดาวเทียมในด้านต่างๆ

การใช้งานดาวเทียมในด้านต่างๆ


ดาวเทียมด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์
          ดาวเทียมดวงแรกทางด้านนี้ก็คือ ดาวเทียมสปุกนิค (Spuknik) ซึ่งถูกออกแบบมา เพื่อใช้ในการวัดความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศโลก และเป็นการทดสอบการส่งสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้า แต่ถัดจากนั้นสหรัฐฯ ก็ได้ส่งดาวเทียมแวนการ์ด 1 (VanGuard-1) ขึ้นไป และข้อมูลที่ได้รับกลับมาจากดาวเทียมแวนการ์ดนั้น ได้บอกลักษณะของโลกเราว่า มีรูปร่างคล้ายกับลูกแพร์ ในปัจจุบันดาวเทียมด้านวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นที่รู้จักกันโดยกันทั่วไป คือ กล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิ้ล (Hubble) มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ทำหน้าที่เป็นกล้องดูดาวลอยฟ้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.2 เมตร ยาว 13.1 เมตร และหนักถึง 11 ตัน ผลจากการส่งกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิ้ล (Hubble) ขึ้นไป ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบข้อมูลต่างๆ ทางด้านดาราศาสตร์อย่างมากมาย รวมถึงกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงอวกาศ

ดาวเทียมสื่อสาร
          ดาวเทียมเอคโค่ (Echo) ถือเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของโลก มีลักษณะคล้ายกับลูกบอลลูน โดยผิวนอกเคลือบด้วยอลูมิเนียม
สร้างโดยสหรัฐฯ ตัวดาวเทียมถูกออกแบบอย่างง่ายๆ โดยอาศัยหลักการสะท้อนแสงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าให้ไปกระทบยังผิวของดาวเทียม

ดาวเทียมสื่อสารในเชิงพาณิชย์
          ดาวเทียมสื่อสารในเชิงพาณิชย์ โดยบริษัท เอที แอนด์ที ได้สร้างดาวเทียมเทลสตาร์ (Telstar) ซึ่งมีรูปทรงกลมหลายเหลี่ยม ดาวเทียมดวงนี้สามารถเชื่อมวงจรโทรศัพท์ได้ถึง 600 สาย ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับทวีปยุโรป

ดาวเทียมซินคอม
          ใน ปี พ.ศ.2506 บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ (หรือบริษัท โบอิ้ง ในปัจจุบัน) ได้สร้างดาวเทียมซินคอม (Syncom) ซึ่งมีวงโคจรเหนือโลก ประมาณ 36,000 กิโลเมตร โดยมีการสร้างชุดดาวเทียมซินคอม ขึ้นมา 3 ชุด คือ ซินคอม-1 ซินคอม-2 และซินคอม-3 เพื่อให้สามารถเชื่อมสัญญาณได้รอบโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ ซินคอม-1 ได้มีปัญหาขัดข้อง ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างไรก็ตาม ซินคอม-2 และซินคอม-3 ก็ได้แสดงบทบาทของดาวเทียมสื่อสาร ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิคในปี พ.ศ. 2507 ที่กรุงโตเกียวเป็นผลสำเร็จ

ดาวเทียมอินเทลแซท-1
           ใน ปี พ.ศ. 2507 ได้มีการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ เพื่อก่อตั้งองค์กรสำหรับการจัดการ ความต้องการของช่องสื่อสารข้อมูล และเครือข่ายขึ้นหรือที่รู้จักกันในนาม The International Telecommunication Satellite Consortium (INTELSAT) โดยหลังจากการก่อตั้งองค์กร INTELSAT เพียง 1 ปี  ดาวเทียมอินเทลแซ ท-1 (Intelsat-1) ก็ได้ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ในขณะที่ความต้องการทางด้านการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น ดาวเทียมก็ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการ อย่างไรก็ตามดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศ ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศ ได้อย่างเพียงพอ
         ในปี พ.ศ. 2515 บริษัท เทเลแซท แห่งประเทศแคนาดา ได้เริ่มยิงดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงแรก ซึ่งมีชื่อว่า ANIK เพื่อตอบสนองความต้องการข้างต้น (ดาวเทียมไทยคม-1A ดาวเทียมไทยคม-2 และดาวเทียมไทยคม-3 ก็ถือเป็นดาวเทียมสื่อสารประเภทนี้ด้วยเช่นกัน)

ดาวเทียมมาริแซท
            รูปแบบการให้บริการของดาวเทียมสื่อสารในยุคแรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริการทางด้านโทรศัพท์ และการถ่ายทอดสัญญาณภาพโทรทัศน์ซึ่งบริการเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ที่ต้อง ใช้จานสายอากาศขนาดใหญ่ ที่สถานีภาคพื้นดิน ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมสัญญาณจากดาวเทียม และสถานีดังกล่าวมักจะตั้งอยู่บนภาคพื้นทวีปเท่านั้น ดังนั้นใน ปี พ.ศ. 2519 บริษัท คอมแซท จึงได้ปล่อยดาวเทียมชนิดใหม่มีชื่อว่า ดาวเทียม มาริแซท (MARISAT) ขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งทำให้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าบริเวณภาคพื้นมหาสมุทรได้ด้วย ปัจจุบัน ดาวเทียมสื่อสารประเภทนี้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจานสายอากาศก็ได้มีการพัฒนา จนกระทั่งมีขนาดเล็กกะทัดรัด ซึ่งสามารถใช้งานกับโทรศัพท์มือถือทั่วไปได้

ดาวเทียมไอพีสตาร์
            ปัจจุบัน ดาวเทียมสื่อสารได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากโทรศัพท์ โทรทัศน์ มาจนถึงอินเทอร์เน็ต ที่ต้องการช่องสัญญาณสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง และพื้นที่ครอบคลุมเฉพาะ อย่างในประเทศไทยเอง ดาวเทียมไอพีสตาร์ ถือเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ที่สามารถรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน
พื้นที่เอเชียแปซิฟิค

ดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ
             ดาวเทียมเฉพาะทางที่ถูกพัฒนาในยุคแรกนั้น เป็นดาวเทียมเพื่อการพยากรณ์อากาศ โดยถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปของกลุ่มเมฆ ดาวเทียมไทรอส-1 (TIROS-1) ถือเป็นดาวเทียมพยากรณ์อากาศดวงแรก และได้ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรในอากาศเมื่อปี พ.ศ. 2503 แต่การศึกษาสภาวะอากาศ ด้วยดาวเทียมไทรอส-1 ก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถาม การเปลื่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ของสภาวะอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากดาวเทียมไทรอส-1 อยู่ในวงโคจรที่ต่ำ ทำให้มุมมองมายังโลกแคบ (น้อยกว่า 1/3 ของโลก) รวมถึงมุมมองนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลา

ดาวเทียมไทรอส-1
            มีการพัฒนาดาวเทียมที่มีชื่อว่าดาวเทียมโกส์ (GOES-Geostationary Operational Environment Satellite) ซึ่งเป็นดาวเทียมพยากรณ์อากาศ ที่ถูกออกแบบให้มีขนาดครอบคลุมผิวโลกถึง 1/3 ของพื้นผิวทั้งหมด รวมถึงเป็นมุมมองที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะหมุนไปอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งคือ หมุนไปพร้อมๆ กับโลก ดาวเทียมดวงนี้ได้ถูกส่งเมื่อ ปี พ.ศ.2517 และในปัจจุบันดาวเทียมชุดนี้ได้นำมาใช้ประกอบการพยากรณ์อากาศอีกด้วย

ดาวเทียมเพื่อการสำรวจทรัพยากร
            ดาวเทียมชนิดนี้ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 โดยอาศัยความรู้ และเทคโนโลยีของดาวเทียมพยากรณ์อากาศ ที่ถูกพัฒนามาก่อนหน้านี้ ดาวเทียมแลนด์แซท-1 (LANDSAT-1) ถูกยิงขึ้นไปเมื่อปี พ.ศ. 2515 เพื่อศึกษาธรณีวิทยา โดยข้อมูลที่ดาวเทียมชุดนี้ ส่งกลับมายังโลกคือ ภาพถ่ายกว่า 300,000 รูป ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ในขณะที่สหัฐมีการพัฒนาดาวเทียมชุดแลนด์แซททางยุโรปเองก็ได้พัฒนาดาวเทียม สปอต (SPOT) เพื่อใช้ในงานลักษณะเดียวกัน

ดาวเทียมจารกรรม
            ดาวเทียมจารกรรม เป็นดาวเทียมที่มักจะปรากฏอยู่ในจอภาพยนตร์มากที่สุด เราจะเห็นความสามารถในการถ่ายภาพ 
การเคลื่อนไหวของบุคคล หรือปฏิบัติการยามค่ำคืนที่สามารถเห็นได้จากภาพถ่ายอินฟาเรด ประเทศที่ผลิตดาวเทียมจารกรรมเหล่านี้ มักจะเอ่ยอ้างว่าเป็นการสร้างเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ในความจริงแล้ว 
การใช้งานดาวเทียมเหล่านี้ มักจะยืนอยู่บนเส้นระหว่างความถูกต้อง กับการล่วงละเมิดสิทธิของแต่ละประเทศที่ถูกจารกรรมข้อมูล นอกจากนั้นข้อมูลของดาวเทียมจารกรรมมักจะถูกเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด


แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 

วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องการสื่อสารดาวเทียม

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น